Tuesday, 1 July 2025

กอ.รมน.ภาค 4 สน. ชี้ “BRN”อยู่เบื้องหลังเหตุ ป่วนเมืองท่องเที่ยวใต้ เปิดปฏิบัติการล่า 14 ผู้สนับสนุน

01 Jul 2025
18

วันที่ (30 มิ.ย. 68) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ค่ายสิรินธร จังหวัดปัตตานี แถลงยืนยันว่า เหตุการณ์ลอบวางระเบิดในพื้นที่จังหวัดกระบี่ พังงา และภูเก็ต มีกลุ่มขบวนการ BRN อยู่เบื้องหลัง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลกลับเข้าสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพ ขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างเร่งติดตามจับกุมผู้เกี่ยวข้องอีก 14 ราย ที่ทำหน้าที่ให้การสนับสนุนการก่อเหตุ

พันเอกเกียรติศักดิ์ ณีวงค์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. เปิดเผยเมื่อเวลา 14.00 น. ของวันนี้ (30 มิ.ย.) ว่า หลังจากการจับกุมนายมูหามะ วาเด็ง และนายสุไลมาน กาซา สองผู้ต้องสงสัยชาวปัตตานี พร้อมวัตถุระเบิดแสวงเครื่อง บริเวณแยกบายพาสหน้าศาลากลางจังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2568 เวลา 03.30 น. เป็นจุดเริ่มต้นของการขยายผลคดี เนื่องจากพฤติการณ์ของผู้ต้องสงสัยมีความคล้ายคลึงกับการก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

จากการตรวจสอบวงจรระเบิดที่ตรวจยึดได้ ซึ่งพบว่าเป็นแบบเดียวกับที่ใช้ก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้หลายครั้ง เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นฝีมือของ BRN ที่ใช้วิธีประกอบระเบิดขนาดเล็ก และลำเลียงเข้าสู่พื้นที่เป้าหมายโดยอาศัยแนวร่วมที่ไม่มีประวัติอาชญากรรม เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจค้น

จากผลการสอบปากคำผู้ต้องสงสัย ทำให้ทราบถึงแผนการที่ซับซ้อน โดยกลุ่มคนร้ายมีการเดินทางเข้า-ออกระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านถึง 3 ครั้ง เพื่อประชุมวางแผนและรับคำสั่งจากนายเตาฟิตฯ และนายไซฟุดดิน ซึ่งเป็นผู้สั่งการ มีผู้ให้การสนับสนุนรวม 14 ราย ที่มีบทบาทหน้าที่ชัดเจน ตั้งแต่การจัดซื้อรถ การรับรถ การส่งรถให้ผู้ก่อเหตุ ไปจนถึงการขับรถรับ-ส่งผู้ก่อเหตุ

โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. เปิดเผยว่า มีการวางระเบิดทั้งหมด 15 ลูก ใน 11 จุด แบ่งเป็น จังหวัดกระบี่ 4 จุด (5 ลูก), จังหวัดพังงา 1 จุด (1 ลูก) และจังหวัดภูเก็ต 6 จุด (6 ลูก) นอกจากนี้ยังมีการตรวจยึดระเบิดได้พร้อมผู้ต้องสงสัยอีก 1 ลูก ขณะนี้เจ้าหน้าที่สามารถเก็บกู้ระเบิดได้ทั้งหมดแล้ว และจับกุมผู้ร่วมก่อเหตุได้แล้ว 5 ราย โดยเป็นผู้ก่อเหตุ 2 ราย และผู้สนับสนุน 3 ราย โดยรวมแล้ว มีผู้ร่วมก่อเหตุในครั้งนี้ทั้งหมด 20 ราย ประกอบด้วย ผู้สั่งการ 2 ราย, ผู้สนับสนุน 14 ราย และผู้ก่อเหตุ 4 ราย

แม้เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ แต่จากวัตถุพยานที่ยึดได้บ่งชี้ว่า การกระทำครั้งนี้ไม่ได้มุ่งหมายให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยตรง เนื่องจากเป็นระเบิดขนาดเล็ก ไม่มีอานุภาพทำลายร้ายแรง และไม่มีชิ้นส่วนสังหาร แต่มีเป้าหมายหลักคือการสร้างภาพความรุนแรงและผลักดันประเด็นการเจรจาสันติภาพให้เป็นที่รับรู้ของสาธารณชน โดยเฉพาะการเลือกวางระเบิดในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว สนามบิน และสถานที่เชิงสัญลักษณ์

พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผอ.รมน.ภาค 4 ได้สั่งการให้ทุกหน่วยปฏิบัติตามแผนสกัดกั้นกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงอย่างเข้มงวด ทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ กรุงเทพมหานคร และพื้นที่รอยต่อ โดยเน้นการตรวจสอบเส้นทางรถยนต์และรถไฟ

พันเอกเกียรติศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า วงจรระเบิดที่พบในรถยนต์เก๋งนั้น สามารถตั้งเวลาได้สูงสุดถึง 3 เดือน ซึ่งเป็นวงจรตั้งเวลาที่ยาวนานที่สุดเท่าที่เคยพบมา เพื่อป้องกันการสืบสวนติดตามของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากหากเกิดเหตุระเบิดขึ้น ข้อมูลจากกล้องวงจรปิดอาจถูกลบไปแล้ว หรือการสืบสวนร่องรอยของผู้ก่อเหตุจะทำได้ยาก นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการวางแผนระยะยาวของผู้ก่อเหตุ เพื่อทำลายหรือต่อรองกับรัฐบาล หรือบุคคล/หน่วยงานใดๆ หากไม่มีผลตอบรับตามที่ต้องการ อาจมีการก่อเหตุระเบิดเกิดขึ้น ซึ่งหากเป็นการตั้งเวลาที่นาน เจ้าหน้าที่จะไม่สามารถสาวกลับไปถึงวันที่ลงมือก่อเหตุได้ ปัจจุบันเจ้าหน้าที่สามารถสืบสวนสอบสวนจนระบุตัวผู้ก่อเหตุได้ทั้งหมด 20 ราย ประกอบด้วย ผู้สั่งการ 2 ราย, ผู้ลงมือก่อเหตุ 4 ราย และผู้ให้การสนับสนุน 14 ราย สำหรับยานพาหนะ เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมรถยนต์เก๋งได้ 1 คัน เป็นป้ายทะเบียนสุรินทร์ แต่ยังขาดรถจักรยานยนต์อีก 1 คัน ที่อยู่ระหว่างการติดตาม ในวันและเวลาที่ก่อเหตุ คนร้ายได้มารับรถที่หาดสกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา และมีการเคลื่อนขบวนยานพาหนะทั้งหมด 4 คัน ประกอบด้วยรถจักรยานยนต์ 3 คัน และรถยนต์ 1 คัน โดยมีผู้ขับรถจักรยานยนต์ 3 คน และผู้ขับรถยนต์ 1 คน รวมเป็น 4 คน จากนั้นจะมีการสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนคนขับเนื่องจากการขับขี่ที่ไกลและอาจมีความเหนื่อยล้า

กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงขอความร่วมมือจากประชาชนในการช่วยกันสอดส่องดูแล หากพบบุคคลต้องสงสัย หรือรถจักรยานยนต์ที่ไม่ทราบที่มาในเส้นทางจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปจนถึงจังหวัดภูเก็ต ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทุกจังหวัด เข้าทำการตรวจสอบได้ที่สายตรงแม่ทัพภาคที่ 4 / ผอ.รมน.ภาค 4 โทร 061-1732999 หรือสายด่วน กอ.รมน.ภาค 4 สน. 1341 และหน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ การให้การสนับสนุนผู้กระทำผิดในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการนำพาซ่อนเร้น ให้ที่พักพิง หรือสนับสนุนเสบียงอาหาร ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ