เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ณ หอประชุมศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ ดร.มุฮัมมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา เลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก เดินทางเข้าคารวะจุฬาราชมนตรี พร้อมกับพบปะพี่น้องมุสลิมในโอกาสเยือนประเทศไทย โดยมีผู้แทนจากหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักจุฬาราชมนตรี คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น
ดร.มุฮัมมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา มีการกล่าวปาฐกถาพิเศษในโอกาสเรื่องความความเอื้ออาทรระหว่างศาสนากับการสร้างสัมพันธภาพเป็นภาษาอาหรับ ขณะที่ ผศ.ดร.อับดุลลอฮฺ หนุ่มสุข ประธานคณะทำงานตรวจร่างสำนวนคำวินิจฉัย(ฟัตวา)จุฬาราชมนตรี ได้ถอดความและสรุปเนื้อหา มีใจความว่า “ การเปิดใจ การยอมรับความเป็นอื่น(ความแตกต่าง) หากว่าเรายังไม่ยอมรับ การสร้างสะพานการสร้างความสมานฉันท์ สะพานของการสร้างสัมพันธภาพในบรรยากาศการอยู่ร่วมกันในประเทศไทยที่เป็นพหุวัฒนธรรมก็จะไม่เกิดขึ้น”
นอกจากนี้การมีใจกว้าง ยอมรับในความต่างของเพื่อนต่างศาสนิกของเรา จะนำมาสู่การสร้างสะพานจะนำไปสู่การปฏิสัมพันธ์ การพูดคุย สร้างความเข้าใจเพื่อนำไปสู่การอยู่อย่างสันติ ซึ่งท่านเน้นย้ำว่าการเปิดใจกว้างจะต้องเป็นภาพของการปฏิบัติตามแบบอย่างสวยงามของท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล.)
ท่านยกตัวอย่าง ธรรมนูญมะดีนะฮฺ ธรรมนูญแห่งประวัติศาสตร์ในสมัยการปกครองของท่านนบีมุฮัมหมัด(ซ.ล.) ที่ให้สิทธิ เสรีภาพในการนับถือศาสนา และการเป็นพลเมืองกับทุกคนในเมืองมะดีนะฮฺ ต้องปกป้องผลประโยชน์ร่วมกันในความหลากหลาย คำกล่าวของอัลลอฮฺที่ว่า “ไม่มีการบังคับในการนับถือศาสนา” จะต้องยอมรับในการมีอยู่ของศาสนา
คำตอบของท่านนบีมุฮัมหมัด(ซ.ล.) เมื่อถูกถามว่า อีหม่านแบบไหนที่ดีที่สุด ซึ่งท่านบีตอบว่า 1.การอดทน 2.การมีใจเผื่อแผ่ เมตตา เอื้ออาทร คำสอนของอิสลามในการอยู่ร่วมกับพี่น้องต่างศาสนิก มุสลิมจะต้องให้ความสำคัญในบริบทปัจจุบัน
อีกประเด็นที่สำคัญคือ การออกคำวินิจฉัยข้อกำหนดในการปฎิบัติศาสนกิจต่างๆ ต้องคำนึงถึงบริบท สถานที่ และเวลา ซึ่งคำวินิจฉัยหนึ่งนั้นไม่สามารถใช้ได้กับมุสลิมทั่วโลก เราจะต้องให้ความสนใจและให้ความสำคัญ และนี่คือสิ่งที่จะนำมาในการแก้ไขปัญหาสังคมในการอยู่ร่วมกัน
สุดท้ายท่านชื่นชมในการตื่นตัวของพี่น้องมุสลิมไทยในการที่จะเป็นต้นแบบ ตัวอย่างที่ดีในการสร้างความสมานฉันท์ ความสงบ ร่มเย็น เพื่อเป็นเกราะป้องกันในการเผชิญหน้ากระแสความสุดโต่ง ความเกลียดกลัว ความเกลียดชังอิสลาม
นายอับดุลอาซิซ เจ๊ะมามะ กรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส/กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ให้ทัศนะว่า “ผมได้มีโอกาส รับฟังการบรรยาย จาก พณฯ เลขาธิการองค์การสันนิบาตโลกมุสลิมด้วย เนื่องจากขึ้นมาประชุม กรรมการกลาง ฯ การบรรยายเข้มข้น เต็มด้วยข้อมูล และสาระ และ ทันกับเหตุการณ์ปัจจุบัน ครับ”
————————–