Monday, 13 January 2025

ความมุ่งมั่น ศรัทธา แก้ไขปัญหาพื้นที่ จชต. สู่การพูดคุยเพื่อสันติสุข

17 Jan 2022
1877

กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวิธีการจัดการความขัดแย้งด้วยแนวทางสันติวิธีที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกทั้งเป็นแนวทางที่ทั่วโลกยอมรับว่าเป็นวิธีที่น่าจะมีการสูญเสียน้อยที่สุดในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง นับตั้งแต่ที่มีการพูดคุยแบบเต็มคณะอย่างไม่เป็นทางการครั้งแรกในปี 2558 การพูดคุยมีความก้าวหน้าและได้ข้อยุติที่สำคัญ อาทิการให้ความเห็นชอบในหลักการที่จะลดเหตุความรุนแรงในห้วงเดือนรอมฎอน เมื่อปี 2558 การให้ความเห็นชอบร่วมกันในการจัดตั้งคณะทำงานทางเทคนิคร่วม เพื่อทำหน้าที่ในการกลั่นกรองวาระการประชุม และพิจารณารายละเอียดประเด็นในการพูดคุย การให้ความเห็นชอบเรื่องการกําหนดให้การพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติเป็นต้น ต่อมาในปี 2560 คณะพูดคุยฯ ได้มีการบรรลุข้อตกลงในการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยหรือ Safety Zone เป็นพื้นที่นําร่องเพื่อลดเหตุความรุนแรง  “พื้นที่ปลอดภัย” ตามข้อตกลงของ 2 ฝ่าย คือ พื้นที่ที่ปลอดจากความรุนแรงทุกรูปแบบ ทุกคนสามารถแสดงความเห็นได้อย่างเสรี ไร้การคุกคาม และต้องปลอดจากยาเสพติด

เมื่อวันที่ 11-12 ม.ค. 2565  เป็นการพูดคุยคณะสันติสุข โดยมีคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยคณะผู้แทนไทยที่มี พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหัวหน้า และฝ่ายคณะผู้แทนของกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (บีอาร์เอ็น) คือนายอานัส อับดุลเราะห์มาน เป็นการพูดคุยกันที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เป็นการพูดคุยครั้งที่ 3 ซึ่งใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “3rd. Working Group Peace Dialogue Process on Southern Thailand Meeting” หลังจากมีการชะงักเพราะการระบาดของโควิด-19 มาตั้งแต่ปี 2563 ในการพูดคุยครั้งนี้เป็นการวางกรอบสำคัญการพูดคุยในเรื่องหลัก 3 ประเด็น คือ คือ 1.การลดความรุนแรง 2.การปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ และ 3.การแสวงหาทางออกทางการเมือง ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยอยากเห็นความสงบสุขในพื้นที่ การใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขในพื้นที่ และการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมทั้งอยากเห็นการแก้ไขปัญหาที่รากเหง้าของปัญหา อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนอย่างสันติสุขอย่างถาวรต่อไป ซึ่งถือเป็นหมุดหมายที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการก้าวข้ามในเรื่องของงานธุรการต่างๆ และการบริหารจัดการต่างๆ ทั้งสองฝ่ายพยายามลดกิจกรรมในเรื่องของความรุนแรงลง โดยต่างฝ่ายต่างคนต่างทำตามความสมัครใจ เนื่องจากต้องการสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อการพูดคุยในครั้งต่อไป รวมทั้งต้องการให้ประชาชนในพื้นที่ได้ตระหนักถึงประโยชน์ของการพูดคุยที่ทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยในพื้นที่  สำหรับการพูดคุยกันในครั้งต่อไปทางคณะพูดคุยจะได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนผลักดันให้กระบวนการพูดคุย เป็นหนทางในการสร้างสันติสุขในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป และคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งกลุ่มผู้เห็นต่างที่นอกเหนือจากกระบวนการ BRN และภาคส่วนของประชาชนในพื้นที่ เพราะเราต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมาแสวงหาทางออกร่วมกันต่อไป

นอกจากนี้จากการศึกษาผลสํารวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดังกล่าวข้างต้นในปี 2561 พบว่า ประชาชนทั่วไปส่วนใหญ่สนับสนุนการพูดคุย/เจรจาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในพื้นที่ และเห็นว่ากระบวนการพูดคุยฯ มีผลทำให้บรรยากาศ สภาพแวดล้อมชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ทั้งประชาชนทั่วไปและผู้นําทางความคิดส่วนใหญ่ยังมีความหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพกันได้ ส่วนข้อเสนอที่ต้องการให้รัฐบาล และฝ่ายที่เห็นต่าง สำหรับความคิดเห็นของประชาชนในประเด็นของการทำพื้นที่ปลอดภัยพบว่า ประชาชนต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ต้องปลอดภัยจากความรุนแรง และไม่มีความรุนแรงตามพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ส่วนรูปแบบการมีส่วนร่วมทั้งประชาชนทั่วไปและผู้นําทางความคิดมองว่าจําเป็นมากที่สุด คือ การรวมตัวกันขององค์กรภาคประชาสังคมเพื่อนําเสนอความต้องการของประชาชนต่อรัฐบาล และผู้เห็นต่างบนโต๊ะพูดคุย นอกจากนี้ควรเปิดโอกาสให้ผู้นําศาสนาอิสลาม อุสตาซ องค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ และนักการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติเข้ามามีส่วนร่วมด้วย การพูดคุยเป็นวิธีการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งตามแนวทางสันติวิธีเพียงเท่านั้น ซึ่งอาจไม่ใช่คําตอบทั้งหมดในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความซับซ้อนและมีความเชื่อมโยงหลายมิติการแก้ไขปัญหาจะสำเร็จได้อาจต้องใช้เวลาและต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วม อีกทั้งภาครัฐต้องกำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและตรงต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง

เอกสารอ้างอิง

https://www.thairath.co.th/news/local/south/2288917

https://www.bbc.com/thai/thailand-43506026

ฉัตรชัย ศรีเมืองกาญจนา. (2561). ความก้าวหน้าการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.น.1-13