คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย พลเอก วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ พร้อมด้วย พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4, พลโท ธิรา แดหวา แม่ทัพน้อยที่ 4, พลโท สวัสดิ์ ชนะจิตราสกุล, นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการ สมช., พล.ต.ต.มณฑล บัวจีบ, นายพลเทพ ธนโกเศศ และนางสาววันรพี ขาวสะอาด ร่วมแถลงข่าว สรุปผลความคืบหน้าการพูดคุยเพื่อสันติสุขหลังจากร่วมประชุมหารือกับคณะผู้แทนกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ หรือ BRN ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 11 – 12 มกราคม 2565 ย้ำการพูดคุยคืบหน้าทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกำหนดสารัตถะ 3 ข้อ คาดปีนี้เห็นผลคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม
พลเอก วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ผลการพูดคุยเมื่อวันที่ 11 และ 12 มกราคม ที่ผ่านมา ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฝั่งไทยและคณะผู้แทน BRN นำโดยอุสตาส อานัส อับดุลเราะห์มานและคณะ โดยมี นายตันซรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นอร์ เป็นผู้อำนวยความสสะดวกการพูดคุย และมีผู้เชี่ยวชาญร่วมสังเกตการณ์อีก 2 คน ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยดีทั้ง 2 ฝ่าย มีท่าทีที่มีมิตรไมตรีต่อกัน
ทั้งนี้ หลังจากสถานการณ์โควิดทำให้กระบวนการพูดคุยประสบปัญหาในการเดินทางไปประชุมพูดคุยพบปะไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้การพูดคุยเกิดการชะลอไป แต่ทั้งสองฝ่ายได้พยายามสานต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขผ่านทั้งออนไลน์ รวมถึงการติดต่อสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้การพูดคุยมีความคืบหน้าต่อเนื่อง จนนำไปสู่การผลักดันให้เกิดการประชุมแบบ Face to Face ที่ประเทศมาเลเซียระหว่างวันที่ 11 – 12 มกราคม 2565 โดยผลการหารือจากการประชุมดังกล่าวมีข้อสรุปใน 3 ประเด็นหลัก ดังนี้
ประเด็นแรก คือ ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยหารือและเห็นพ้องกันในเรื่องหลักการทั่วไปในกรอบสารัตถะ 3 เรื่อง คือ
1️การลดความรุนแรง
2️ การปรึกษาหารือของประชาชนในพื้นที่
3️ การแสวงหาทางออกทางการเมือง
ซึ่งทั้ง 3 เรื่องเป็นไปตามเจตนารมณ์และความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และครอบคลุมทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นคือการอยากเห็นความสงบสุขในพื้นที่ การใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข และการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมทั้งอยากเห็นรัฐบาลแก้ไขปัญหาที่รากเหง้าอันจะนำไปสู่การสร้างสันติสุขอย่างถาวรยั่งยืนต่อไป
ประเด็นที่ 2 การจัดตั้งกลไก เพื่อมาขับเคลื่อนประเด็นสารัตถะของการพูดคุย โดยมีการพิจารณาที่จะจัดตั้ง ผู้ประสานงาน Joint working group ขึ้นมาในแต่ละประเด็น โดยเฉพาะประเด็น การลดความรุนแรงและการเข้ามาปรึกษาหารือในพื้นที่ ส่วนประเด็นการแสวงหาทางออกทางการเมือง ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อนและละเอียดค่อนข้างมาก ก็จะใช้ลักษณะการจัดตั้ง Joint study group เข้ามาเพื่อศึกษาในรายละเอียดหาแนวทางที่เหมาะสม
ทั้งนี้ การจัดตั้งดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นแบบกึ่งทางการ ที่สามารถพบปะหารือติดต่อพูดคุยกันได้โดยตรง เพื่อกำจัดจุดอ่อนในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ที่ทำการประชุมอย่างเป็นทางการทำได้ค่อนข้างยาก การจัดตั้งลักษณะนี้ก็จะช่วยผลักดันให้ประเด็นสารัตถะต่างๆ คืบหน้าไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
ประเด็นที่ 3 ซึ่งเป็นประเด็นที่คณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยได้หยิบยกขึ้นมา คือ การลดกิจกรรมความรุนแรงลงของทั้ง 2 ฝ่าย โดยความสมัครใจ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อการพูดคุยในครั้งต่อไป รวมทั้งต้องการให้ประชาชนในพื้นที่ได้ตระหนักถึงประโยชน์ของการพูดคุยที่จะก่อให้เกิดความสงบสุขขึ้นในพื้นที่ โดยคณะพูดคุยฝั่งไทยและกองทัพภาคที่ 4 ได้มีการเตรียมการในเรื่องดังกล่าวไว้บางส่วนแล้ว
อย่างไรก็ตาม การพูดคุยครั้งต่อไป ได้มีการหารือในที่ประชุมว่า จะมีการพูดคุยกัน 2-3 เดือนต่อครั้ง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิดด้วย
นอกจากนี้ พลเอก วัลลภ ได้กล่าวทิ้งท้ายโดยยืนยันว่า คณะพูดคุยได้
มุ่งมั่นดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ในการขับเคลื่อนผลักดันให้กระบวนการพูดคุยเป็นหนทางที่สามารถสร้างสันติสุขในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน พร้อมคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายผู้เห็นต่างทุกกลุ่ม ไม่เฉพาะแต่กลุ่มขบวนการ BRN รวมถึงภาคประชาชน เพื่อมาแสวงหาทางออกร่มกันต่อไป
โดยตลอดในห้วง 2 ปีที่มีการพูดคุยกับกลุ่ม BRN จากช่วงแรกที่มีความไม่วางวางใจกันจนถึงขณะนี้ เริ่มมีความเชื่อมั่นกันพอสมควร ผลจากการพูดคุยครั้งนี้ ถือว่ามีความก้าวหน้าที่ดีมาก นำมาสู่การกำหนดหัวข้อประเด็นสารัตถะกันได้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้กระบวนการพูดคุยดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น โดยหนึ่งปีหลังจากนี้คาดว่าจะมองเห็นความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการลดความรุนแรง และการเข้ามาปรึกษาหารือในพื้นที่ หลังจากนี้ คณะพูดคุยจะต้องเร่งสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ให้รับทราบ คาดว่าภายใน 2 ปีนี้จะเห็นความคืบหน้าในการพูดคุยเรื่องการแสวงหาทางออกทางการเมืองได้ต่อไป.
———————–