ความเป็นมา
ทุ่งลิปะสะโงเป็นพื้นที่แปลงใหญ่มีเนื้อ ที่ประมาณ ๑๕,๘๔๕ ไร่ ตั้งอยู่ตำบลลิปะสะโง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งพื้นที่ส่วนนี้มักจะประสบปัญหาน้ำท่วมขังทำให้ราษฎรไม่สามารถทำการเกษตรได้ ต่อมาเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๑๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯเยี่ยมราษฎรที่ตำบลนี้ และได้พระราชทานคำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่และราษฎรให้ใช้ระบบชลประทานช่วยในการระบายน้ำแล้วจัดที่ดินแปลงนี้ให้ราษฎรได้เข้าทำประโยชน์ในรูปหมู่บ้านสหกรณ์ โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญฯ ดังนี้
๑. ใช้ระบบชลประทานช่วยระบายน้ำในฤดูฝน แล้วส่งน้ำเข้าช่วยการเกษตรในฤดูแล้ง
๒. จัดพื้นที่ทั้งหมดเป็น ๓ ชุมชน
๓. แบ่งพื้นที่นาเป็น ๓ โซน ที่สูงใช้ในการเลี้ยงสัตว์ ที่ราบใช้ในการทำนา ที่ลุ่มน้ำให้ส่งเสริมการเลี้ยงปลา
๔. จัดชุมชนแต่ละแห่งให้เป็นสัดส่วน กล่าวคือ ชุมชนที่อยู่อาศัย ประกอบด้วยบ้านเรือนราษฎรและสถานบริการต่าง ๆ เช่น ศาลาประชาคม โรงเรียน สถานีอนามัย ร้านค้า ที่ทำการต่าง ๆ รวมทั้งสงวนพื้นที่บางส่วนไว้ เพื่อการเจริญเติบโตของชุมชนในอนาคต ส่วนพื้นที่ที่จะใช้ประกอบอาชีพของแต่ละครอบครัวให้แยกออกไปอยู่ในที่แห่งเดียวกันเป็นสัดส่วนนอกชุมชนอยู่อาศัย
๕. ให้มีคณะกรรมการกลางของหมู่บ้านเป็นผู้ปกครองดูแลและจัดระเบียบชุมชนเอง โดยเฉพาะโฉนดของเนื้อที่แต่ละแปลงให้อยู่ในความดูแลของกรรมการหมู่บ้าน การดำเนินงานดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ของทางราชการคอยดูแลและให้คำแนะนำ
๖. ให้ราษฎรที่อยู่ในตำบลนี้ และพื้นที่ใกล้เคียงที่มีความเดือดร้อนในเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ ได้เข้าอยู่และทำกินไปชั่วลูกหลาน โดยไม่ให้กรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินและไม่ให้มีการแบ่งที่ดินแก่ผู้สืบสกุลเป็นแปลงย่อย
วัตถุประสงค์
๑. โครงการนี้เป็นโครงการผสมผสาน ที่มีหน่วยงานร่วมเป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินงานได้ขอจัดสรรงบประมาณเข้าไปสนับสนุนในโครงการ
๒. เพื่อจัดระบบชลประทาน ให้มีการระบายน้ำออกในช่วงมรสุมและกักเก็บน้ำส่งเข้าที่ดิน ให้สมาชิกหมู่บ้านทำการเพาะปลูกในหน้าแล้ง โดยทางราชการจะเข้าดำเนินการให้ในระยะแรกและกรรมการหมู่บ้านจะรับไปดำเนินการในระยะต่อไป
๓. ส่งเสริมให้สมาชิกหมู่บ้านทำาการเพาะปลูกพืชหมุนเวียน เช่น ถั่ว ข้าวโพด และผักต่าง ๆ เป็นต้น และจัดให้ทำนานอกฤดูกาล ซึ่งได้รับน้ำจากการพัฒนาแหล่งน้ำโดยวิธีระบบชลประทาน และยังส่งเสริมให้สมาชิกขุดบ่อปลา เพื่อเลี้ยงปลาเพิ่มพูนรายได้อีกด้วย
๔. เพื่อจัดให้เป็นหมู่บ้านพัฒนาตัวอย่างทั้งในด้านอาชีพ การศึกษา อนามัย การปกครอง และการดำเนินธุรกิจในด้านการซื้อ การขาย การบำรุงที่ดินตามหลักและวิธีการสหกรณ์
๕. ท้องที่หมู่บ้านในโครงการพระราชดำริทุ่งลิปะสะโง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีแห่งนี้ จังหวัดได้จัดเข้าอยู่ในโครงการตามนโยบายเร่งด่วนทางเศรษฐกิจของรัฐบาลและกำหนดพื้นที่นี้เป็นพื้นที่มีราษฎรยากจนที่จะต้องพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อราษฎรได้มีงานทำ ได้ประกอบอาชีพในทางเกษตรกรรมเพื่อเพิ่มรายได้เป็นการส่งเสริมฐานะความเป็นอยู่และยกระดับการครองชีพของสมาชิกให้สูงขึ้น
การดำเนินงานในด้านสหกรณ์
ตามที่จังหวัดได้ดำเนินการโครงการ “จัดที่ดินหมู่บ้านพระราชดำริทุ่งลิปะสะโง” อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งกระทรวงมหาดไทยและคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติได้อนุมัติโครงการ พร้อมกับขอความร่วมมือจากส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการตามหน้าที่ เพื่อสนองพระราชดำริ จัดที่ดินทำกินให้ราษฎรเข้ามาเป็นสมาชิก และให้มีที่ดินทำกินครอบครัวละ ๑๕ ไร่ แบ่งเป็นที่อยู่อาศัย ๑ ไร่ เป็นที่ประกอบอาชีพการเกษตร จำนวน ๑๔ ไร่ พร้อมกับจัดตั้งหมู่บ้านขึ้น ๓ หมู่บ้าน ซึ่งมีคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นผู้วางนโยบายในการดำเนินงานกิจกรรรมของหมู่บ้าน จัดหมู่บ้านสหกรณ์ โดยมีสหกรณ์การเกษตรทุ่งลิปะสะโง จำกัด เป็นสถาบันหลักเพื่อนำการพัฒนา ดำเนินการจัดตั้งเสร็จเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๒ สมาชิกแรกตั้ง ๑๖๔ คน จนถึง ๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๙ มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น ๓๑๕ คน มีทุนดำเนินงาน ๑,๔๙๓,๐๒๓ บาท สหกรณ์มีบทบาทสำคัญในเรื่องธุรกิจสินเชื่อ วัสดุการเกษตร และเครื่องอุปโภค บริโภค การปรับปรุงพื้นที่มาบริการสมาชิก นอกจากนั้นยังมีแปลงสาธิตปลูกข้าว ปลูกข้าวโพด ปลูกอ้อย ปลูกถั่วเขียว ปลูกไม้โตเร็ว ปลูกมะพร้าว ปลูกพืชผักต่าง ๆ การเลี้ยงปลา การเลี้ยงไก่ และการเลี้ยงโค รวมแปลงสาธิตทั้งหมด ๗๘ ไร่ และส่งเสริมการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ๑๒,๑๓๒ ไร่ และให้การศึกษาอบรมให้ความรู้ด้านสหกรณ์ การตลาดและการเกษตรแก่สมาชิกตลอดปี ซึ่งปัจจุบันคุณภาพชีวิตของสมาชิกสหกรณ์ดีขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้เพื่อให้งานสาธิตสหกรณ์แพร่หลายมากยิ่งขึ้นได้มีผู้สนใจไปศึกษาดูงานเป็นจำนวนมากซึ่งได้แก่ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ข้าราชการ พลเรือนหน่วยต่าง ๆ ตำรวจ ทหารทุกเหล่าทัพ คณะทูตานุทูต และแขกของรัฐบาล เกษตรกร สมาชิกสหกรณ์ ตลอดจนผู้สนใจทุกสาขาอาชีพ โดยมากันตลอดปี