Saturday, 18 January 2025

เกษตรนราฯ ขับเคลื่อนปลูกกาแฟแบบครบวงจร ต่อยอดสู่การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนกาแฟ “บาตง”

นายเทอดศักดิ์  รัญจวน  เกษตรและสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ตามที่สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส ได้ร่วมกับอาสาสมัคาเกษตรและสหกรณ์ระดับตำบล ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลเกษตรกรที่ทำสัญญาหรือข้อตกลงกับบริษัทที่เข้าข่ายพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ.2560 พบว่าจังหวัดนราธิวาสมีเกษตรกรที่ได้ทำสัญญาหรือตกลงกับบริษัท จำนวน 2 ชนิดพืชได้แก่ โกโก้และกาแฟ โดยส่วนใหญ่ปลูกแซมในสวนยางพารา สวนผลไม้ ต่อมาทางสำนักงานฯ ได้จัดทำแผนลงพื้นที่เพื่อสร้างการรับรู้แก่เกษตรกร หลังพบว่าเกษตรกรไม่ทราบและไม่มีความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมีความเสี่ยงที่บริษัทจะเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรได้ จึงเข้ามาให้ความรู้และส่งเสริมสนับสนุน

สำหรับพืชกาแฟ จากการสำรวจพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกพันธุ์โรบัสต้า ซึ่งมีเกษตรกรรายหนึ่งที่ปลูกกาแฟมายาวนาน คือ นางซารีฮะ สะมาวี อยู่บ้านเลขที่ 60/3 หมู่ที่ 5 บ้านตันหยง ตำบลบาตง อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาสเป็นเกษตรกรรายย่อย และมีบุตรชาย คือ นายลุตฟี สะมาวี เป็นผู้ช่วยทำการเกษตร ล่าสุดทางสำนักงานฯ ได้ร่วมกับ NBT World สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ เกษตรอำเภอรือเสาะ และเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ร่วมถ่ายทำสารคดีสันติสุขชายแดนใต้ ภาคภาษาอังกฤษ “กาแฟบาตง” เพื่อส่งเสริมสนับสนุนและขยายผลกาแฟบาตงไปยังพื้นที่อื่นๆ อีกทั้งสามารถเป็นอาชีพอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกร สามารถปลูกแซมในสวนยางพารา หรือปลูกเชิงเดี่ยว สร้างรายได้ให้กับครอบครัว โดยมี นางซารีฮะ สะมาวี เป็นเกษตรกรต้นแบบบ้านบาตง อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ได้ปลูกกาแฟ จำนวน 3.5 ไร่ มีอายุ 4 ปี ในปี 2563 มีผลผลิตจำนวน 500 กิโลกรัม ได้ขยายผลและมีการรวมกลุ่มผู้ปลูกกาแฟแล้ว จำนวน 27 ราย พื้นที่ 19 ไร่

นายเทอดศักดิ์  รัญจวน เกษตรและสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส กล่าวอีกว่า สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอรือเสาะ จะส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟบาตง ให้มีการขยายผล เพิ่มพื้นที่ปลูก เพิ่มผลผลิตให้มีคุณภาพ ลดต้นทุนโดยการใช้ปุ๋ยชีวภาพ ลดปุ๋ยเคมี รวมถึงจะส่งเสริมให้กลุ่มจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน และเข้าสู่หลักเกณฑ์การรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี GAP ซึ่งปัจจุบันผลผลิตยังมีไม่มากนัก แต่ก็เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคในพื้นที่ และจำหน่ายตลาดออนไลน์ มีกรรมวิธีการผลิต ไม่ใช้เครื่องจักร ใช้คนเป็นหลัก (ระบบมือ) ทำให้มีรสชาติหอม ละมุน เป็นเอกลักษณ์กาแฟบาตง อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส

——————-